วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไทยหมดหวังเป็นครัวโลกพื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดเหลือ 0.05 %

ไทยติดอันดับใช้สารเคมีมากที่สุดในเอเชีย
(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารเคมีต่อเกษตรกรนั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาจากการใช้สารเคมี ทั้งข้าราชการและบริษัท จะโยนความผิดนั้นให้กับเกษตรกร เช่น เกษตรกรใช้สารเคมีไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งการให้ความรู้กับเกษตรกรขั้นต้นในการใช้สารเคมีนั้น เป็นหน้าที่ที่กรมวิชาการเกษตรต้องทำ แต่ไม่มีการดำเนินการ เช่นกรณีสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ที่มีการคัดค้านนั้น กรมวิชาการเกษตรสามารถจะห้ามใช้ได้ตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น และยังมีตัวเลขชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า สัดส่วนการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย  4 ตัวนี้ โดยเฉพาะ 2 ตัวแรก คือ คาโบฟูราน และเมทนิล มีสัดส่วนประมาณ 30-50 % ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีฤทธิ์แรง ค่ามาตรฐานความปลอดภัยจึงต่ำ ดังนั้นจึงเห็นส่วนเกินที่ตกค้างเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างชัด อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการที่เคยทดลองการใช้คาโบฟูราน และเมทนิล ตามค่ามาตรฐานคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และเก็บเกี่ยวตามเวลา ปรากฏว่ายังพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 10 เท่า

“คิดดูว่าเมื่อทำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรแล้วยังตรวจพบ จึงไม่น่าแปลกใจว่าสินค้าการเกษตร ผักต่างๆที่ส่งไปยุโรปจะมีสารเคมีพวกนี้ตกค้างอยู่  ถึงแม้จะใช้อย่างถูกต้อง แต่ฤทธิ์ของสารเคมีเหล่านี้ ยังเกินระดับที่จะรับได้ ซึ่งควรจะมีการห้ามใช้อย่างเด็ดขาด”

สำหรับทางออกในระยะยาวนั้น นายวิฑูรย์มองว่าการจะแก้ปัญหาการใช้สารเคมีเหล่านี้ ต้องเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นระบบที่ปลอดภัย สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเกินครึ่งประเทศ แต่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีอยู่นั้น คงต้องมีทางเลือกที่ปลอดภัย  ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ที่จะหาวิธีการทำให้ปลอดภัยกับชีวิตของเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือการเลิกใช้ให้เหมือนอารยประเทศ

“การใช้สารเคมีทำร้ายคน เป็นการฆ่าคนที่ป่าเถื่อน”

ส่วนสถานการณ์การใช้สารเคมีในต่างประเทศ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ศึกษาแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในเอเชีย พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการใช้สารเคมีสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ขณะที่สหรัฐอเมริกาพยายามไม่ให้เกษตรกรใช้ยาปราบศัตรูพืช และมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะตรวจสอบสารเคมีในพืชผักของตนเอง ในขณะที่ส่งสารเคมีเหล่านี้ไปจำหน่ายยังประเทศอื่นได้ นอกจากนี้นโยบายของประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ได้กำหนดให้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เป็นสารเคมีต้องห้าม ไม่สามารถผลิต นำเข้า ใช้ในพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง มีการใช้ที่ไม่เหมาะสมทำให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ไทยหมดหวังเป็นครัวโลกพื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดเหลือ 0.05 %


นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ทางออกหนึ่งของการลดการใช้สารเคมีที่หลายประเทศทั่วโลก กำลังหันกลับมาเดินในแนวทางนั้นคือ เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจากการทำงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยลดน้อยลง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองตามมาตรฐานมีจำนวนลดลงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การเกษตรของไทยมีประมาณ 130 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เหลือประมาณ 150,000 ไร่เท่านั้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือประมาณ 0.05 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ นับว่าเป็นสถานการณ์ที่แย่มาก และยังเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตจากการใช้สารเคมี การพึ่งพาสารเคมีในระบบการผลิต ปัญหาสารเคมีที่แพงขึ้น หลายประเทศในโลกเปลี่ยนระบบการผลิตไปเป็นแบบอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป บางประเทศมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์  หรือประเทศออสเตรีย ที่มีถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ประเทศเล็กๆบางประเทศอย่างเช่น ประเทศริคเก็นสไตล์ เป็นระบบเกษตรอินทรีย์เกินครึ่งประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร มีน้ำ ทรัพยากรพร้อม แต่พื้นที่เกษตรอินทรีย์กลับลดลงและไม่อยู่ในฐานะที่ผลิตพลังงานได้ด้วยตนเอง และผู้บริหารประเทศยังไม่มีนโยบายที่จริงจังกับเรื่องนี้

“พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้มาก แต่เดิมเราตั้งว่าจะต้องเพิ่มให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปี  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ว่า ประเทศไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปี ซึ่งในการปฏิบัติจริงทำไม่ได้”

นายวิฑูรย์กล่าวด้วยว่า นโยบายของรัฐบาลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดลง เช่น โครงการรับจำนำข้าว โดยตั้งราคาในระดับสูงถึง 15,000 บาทต่อไร่ แทนที่จะผลักดันนโยบายปรับปรุงคุณภาพในการผลิต เพื่อผลักดันการแข่งขันให้ต่อสู้ได้ กลับไปตั้งราคารับซื้อสูง โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรในการรับซื้อ ซึ่งนโยบายเช่นนี้ จะไปสนับสนุนการใช้สารเคมีในการผลิต และสนับสนุนบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ เช่น บริษัทขายยาปราบศัตรูพืช และบริษัทเมล็ดพันธุ์พืช นอกจากนี้นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยังเป็นการตัดราคาบริษัท หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กที่รับซื้อข้าวจากชาวนา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ในจ.สุรินทร์หาซื้อข้าวอินทรีย์เพื่อจะส่งไปขายที่ยุโรป หาซื้อไม่ได้แล้ว เพราะชาวนาใช้ที่ปลูกข้าวเพื่อเข้าโครงการรับจำนำราคาข้าว”

บทคัดย่อ :


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น