วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทำไมต้อง เกษตรอินทรีย์ ถ้าไม่ คือ เสียโอกาส สำหรับเกษตรกรไทย

เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใย ด้วยความยั่งยืนทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักที่การปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์พยายามประยุกต์กลไกและวัฐจักรธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง 

หลักการเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหลักการสากล ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย

แนวคิด

แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์คือ การบริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากการเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุด โดยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืชและป้องกันกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลในการทำให้พืชที่ปลูกมีผลผลิตลดลง แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดแบบแยกส่วน เพราะแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานการมองว่า การเพาะปลูกไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดังนั้นการเลือกชนิดและวิธีการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ มุ่งเฉพาะแต่การประเมินประสิทธิผลต่อพืชหลักที่ปลูก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร สำหรับเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรแบบองค์รวมจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน, การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้เพราะแนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศในการทำการผลิต ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จได้ เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้กลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ
จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เกษตรอินทรีย์จึงปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ นอกเหนือจากการปฏิเสธการใช้สารเคมีการเกษตรแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจรของธาตุอาหาร, การประหยัดพลังงาน, การอนุรักษ์ระบบนิเวศการเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือได้ว่าเกษตรอินทรีย์เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก (positive management) และการจัดการเชิงบวกนี้เองที่ทำให้เกษตรอินทรีย์แตกต่างอย่างสำคัญจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีแบบปล่อยปะละเลย (ที่มักอ้างว่า เป็นการเกษตรตามแบบธรรมชาติ) หรือเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรไร้สารพิษที่เฟื่องฟูในบ้านเรามานานหลายปี
เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มเชิงสร้างสรรค์ (เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรในไร่นา) ดังนั้นเกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย ผลที่ตามมาก็คือเกษตรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้องสังเกต, ศึกษา, วิเคราะห์-สังเคราะห์ และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง ซึ่งจะมีเงื่อนไขทั้งทางกายภาพ (เช่น ลักษณะของดิน ภูมิอากาศ และภูมินิเวศ) รวมถึงเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อคัดสรรและพัฒนาแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เฉพาะและเหมาะสมกับฟาร์มของตัวเองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เกษตรอินทรีย์ยังให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ผลิตและชุมชนท้องถิ่น เกษตรอินทรีย์มุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงในการทำการเกษตรสำหรับเกษตรกร ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรม วิถีการผลิตของเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่เกษตรกรต้องอ่อนน้อมและเรียนรู้ในการดัดแปลงการผลิตของตนให้เข้ากับวิถีธรรมชาติ อาศัยกลไกธรรมชาติเพื่อทำการเกษตร ดังนั้นวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิถีแห่งการเคารพและพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรพื้นบ้านของสังคมไทย
แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อการค้า เพราะตระหนักว่าครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาการจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ขบวนการเกษตรอินทรีย์พยายามส่งเสริมการทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ โดยการตลาดท้องถิ่นอาจมีรูปแบบที่หลากหลายตามแต่เงื่อนไขทางสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้น เช่น ระบบชุมชนสนับสนุนการเกษตร (Community Support Super Mai Agriculture - CSSMA) หรือระบบอื่นๆ ซึ่งมาจากปะเทศใดในโลก ที่มีหลักการในลักษณะเดียวกัน ส่วนตลาดที่ห่างไกลออกไปจากผู้ผลิต ขบวนการเกษตรอินทรีย์ได้พยายามพัฒนามาตรฐานการผลิตและระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า ทุกขั้นตอนของการผลิต แปรรูป และการจัดการนั้นเป็นการทำงานที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติเดิมมากที่สุด
โดยสรุป จะเห็นว่า เกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพราะความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่อาจดำรงอยู่ได้ โดยแยกออกจากความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกร




หลักการเกษตรอินทรีย์
หลักการสำคัญ 4 ข้อของเกษตรอินทรีย์ คือ สุขภาพ, นิเวศวิทยา, ความเป็นธรรม, และการดูแลเอาใจใส่ (health, ecology, fairness and care)[2]
(ก) มิติด้านสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก
สุขภาวะของสิ่งมีชีวิตแต่ละปัจเจกและของชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกันกับสุขภาวะของระบบนิเวศ การที่ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชพรรณต่างๆ แข็งแรง มีสุขภาวะที่ดี ส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ที่อาศัยพืชพรรณเหล่านั้นเป็นอาหาร
สุขภาวะเป็นองค์รวมและเป็นปัจจัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต การมีสุขภาวะที่ดีไม่ใช่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงภาวะแห่งความเป็นอยู่ที่ดีของกายภาพ จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อมโดยรวม ความแข็งแรง ภูมิต้านทาน และความสามารถในการฟื้นตัวเองจากความเสื่อมถอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสุขภาวะที่ดี
บทบาทของเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในไร่นา การแปรรูป การกระจายผลผลิต หรือการบริโภค ต่างก็มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กสุดในดินจนถึงตัวมนุษย์เราเอง เกษตรอินทรีย์จึงมุ่งที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์ได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ เกษตรอินทรีย์จึงเลือกที่จะปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เวชภัณฑ์สัตว์ และสารปรุงแต่งอาหาร ที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ
(ข) มิติด้านนิเวศวิทยา เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของระบบนิเวศวิทยาและวัฐจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและวัฐจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น
หลักการเกษตรอินทรีย์ในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ที่มองเกษตรอินทรีย์ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศที่มีชีวิต ดังนั้น การผลิตการเกษตรจึงต้องพึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยาและวงจรของธรรมชาติ โดยการเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศสำหรับให้เหมาะสมกับการผลิตแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการปลูกพืช เกษตรกรจะต้องปรับปรุงดินให้มีชีวิต หรือในการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะต้องใส่ใจกับระบบนิเวศโดยรวมของฟาร์ม หรือในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรต้องใส่ใจกับระบบนิเวศของบ่อเลี้ยง
การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า จะต้องสอดคล้องกับวัฐจักรและสมดุลทางธรรมชาติ แม้ว่าวัฐจักรธรรมชาติจะเป็นสากล แต่อาจจะมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นนิเวศได้ ดังนัน การจัดการเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขท้องถิ่น ภูมินิเวศ วัฒนธรรม และเหมาะสมกับขนาดของฟาร์ม เกษตรกรควรใช้ปัจจัยการผลิตและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ซ้ำ การหมุนเวียน เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน
ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ควรสร้างสมดุลของนิเวศการเกษตร โดยการออกแบบระบบการทำฟาร์มที่เหมาะสม การฟื้นฟูระบบนิเวศท้องถิ่น และการสร้างความหลากหลายทั้งทางพันธุกรรมและกิจกรรมทางการเกษตร ผู้คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การค้า และการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ควรช่วยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของภูมินิเวศ สภาพบรรยากาศ นิเวศท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ อากาศ และน้ำ

(ค) มิติด้านความเป็นธรรม เกษตรอินทรีย์ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต
ความเป็นธรรมนี้รวมถึงความเท่าเทียม การเคารพ ความยุติธรรม และการมีส่วนในการปกปักพิทักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ในหลักการด้านนี้ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับควรมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า และผู้บริโภค ทุกผู้คนควรได้รับโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนช่วยในการรักษาอธิปไตยทางอาหาร และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ควรมีเป้าหมายในการผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ดี
ในหลักการข้อนี้หมายรวมถึงการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสภาพการเลี้ยงให้สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการทางธรรมชาติของสัตว์ รวมทั้งดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างเหมาะสม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคควรจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้งทางสังคมและทางนิเวศวิทยา รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์ปกป้องให้กับอนุชนรุ่นหลัง ความเป็นธรรมนี้จะรวมถึงว่า ระบบการผลิต การจำหน่าย และการค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรม และมีการนำต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาเป็นต้นทุนการผลิตด้วย

(ง) มิติด้านการดูแลเอาใจใส่ การบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ควรจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย
เกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่มีพลวัตรและมีชีวิตในตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ควรดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตในการผลิต แต่ในขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนี้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างจริงจัง และแม้แต่เทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้ว ก็ควรจะต้องมีการทบทวนและประเมินผลกันอยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรายังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอเกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตร ที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังเอาใจใส่
ในหลักการนี้ การดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการ การพัฒนา และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมถ่ายทอดกันมาก็อาจมีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการควรมีการประเมินความเสี่ยง และเตรียมการป้องกันจากนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และควรปฏิเสธเทคโนโลยีที่มีความแปรปรวนมาก เช่น เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีต่างๆ จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและระบบคุณค่าของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ และจะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม

ทำไมต้องเกษตรอินทรีย์
จากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2543 พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าอันดับ 4 ของโลก ใช้ฮอร์โมนอันดับที่ 4 ของโลก ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรเป็นเงินปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตทางตรงที่เกษตรกรต้องแบกรับ ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนต่อไร่สูงและต้องใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาผลผลิตไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนเรื้อรัง มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางของการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
การเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรเชิงเดี่ยวก่อให้เกิดปัญหาทางการเกษตรมากมายดังนี้
  1. ความอุดมสมบูรณ์ของดินถูกทำลายต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารในดิน
  2. ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงจะได้รับผลผลิตเท่าเดิม
  3. เกิดปัญหาโรคและแมลงระบาด ทำให้เพิ่มความยุ่งยากในการป้องกันและกำจัด
  4. แม่น้ำและทะเลสาบถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี และความเสื่อมโทรมของดิน
  5. พบสารเคมีปนเปื้อนในผลผลิตเกินปริมาณเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดภัยจากสารพิษสะสมในร่างกายของผู้บริโภค
  6. เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมถูกทำลายเสียหายจนยากจะเยียวยาให้กลับมาคืนดังเดิม
นอกจากนั้น การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก และต่อเนื่องทำให้มีสารตกค้างในเนื้อสัตว์และไข่ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว โรควัวบ้าที่เกิดขึ้นจึงเป็นเสมือนสัญญาณอันตรายที่บอกให้รู้ว่า การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมไม่เพียงเป็นการทรมานสัตว์ แต่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย [3]

[แก้]อ้างอิง

  1. ^ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM)
  2. ^ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM)
  3. ^ อภิชาติ ศรีสอาด จากหนังสือ เกษตรอินทรีย์ ชุดอาหารปลอดภัย

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไทยหมดหวังเป็นครัวโลกพื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดเหลือ 0.05 %

ไทยติดอันดับใช้สารเคมีมากที่สุดในเอเชีย
(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารเคมีต่อเกษตรกรนั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาจากการใช้สารเคมี ทั้งข้าราชการและบริษัท จะโยนความผิดนั้นให้กับเกษตรกร เช่น เกษตรกรใช้สารเคมีไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งการให้ความรู้กับเกษตรกรขั้นต้นในการใช้สารเคมีนั้น เป็นหน้าที่ที่กรมวิชาการเกษตรต้องทำ แต่ไม่มีการดำเนินการ เช่นกรณีสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ที่มีการคัดค้านนั้น กรมวิชาการเกษตรสามารถจะห้ามใช้ได้ตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็น และยังมีตัวเลขชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า สัดส่วนการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย  4 ตัวนี้ โดยเฉพาะ 2 ตัวแรก คือ คาโบฟูราน และเมทนิล มีสัดส่วนประมาณ 30-50 % ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีฤทธิ์แรง ค่ามาตรฐานความปลอดภัยจึงต่ำ ดังนั้นจึงเห็นส่วนเกินที่ตกค้างเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างชัด อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการที่เคยทดลองการใช้คาโบฟูราน และเมทนิล ตามค่ามาตรฐานคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และเก็บเกี่ยวตามเวลา ปรากฏว่ายังพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 10 เท่า

“คิดดูว่าเมื่อทำตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรแล้วยังตรวจพบ จึงไม่น่าแปลกใจว่าสินค้าการเกษตร ผักต่างๆที่ส่งไปยุโรปจะมีสารเคมีพวกนี้ตกค้างอยู่  ถึงแม้จะใช้อย่างถูกต้อง แต่ฤทธิ์ของสารเคมีเหล่านี้ ยังเกินระดับที่จะรับได้ ซึ่งควรจะมีการห้ามใช้อย่างเด็ดขาด”

สำหรับทางออกในระยะยาวนั้น นายวิฑูรย์มองว่าการจะแก้ปัญหาการใช้สารเคมีเหล่านี้ ต้องเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นระบบที่ปลอดภัย สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเกินครึ่งประเทศ แต่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีอยู่นั้น คงต้องมีทางเลือกที่ปลอดภัย  ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ที่จะหาวิธีการทำให้ปลอดภัยกับชีวิตของเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือการเลิกใช้ให้เหมือนอารยประเทศ

“การใช้สารเคมีทำร้ายคน เป็นการฆ่าคนที่ป่าเถื่อน”

ส่วนสถานการณ์การใช้สารเคมีในต่างประเทศ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ศึกษาแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในเอเชีย พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการใช้สารเคมีสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ขณะที่สหรัฐอเมริกาพยายามไม่ให้เกษตรกรใช้ยาปราบศัตรูพืช และมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะตรวจสอบสารเคมีในพืชผักของตนเอง ในขณะที่ส่งสารเคมีเหล่านี้ไปจำหน่ายยังประเทศอื่นได้ นอกจากนี้นโยบายของประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ได้กำหนดให้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เป็นสารเคมีต้องห้าม ไม่สามารถผลิต นำเข้า ใช้ในพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง มีการใช้ที่ไม่เหมาะสมทำให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ไทยหมดหวังเป็นครัวโลกพื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดเหลือ 0.05 %


นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ทางออกหนึ่งของการลดการใช้สารเคมีที่หลายประเทศทั่วโลก กำลังหันกลับมาเดินในแนวทางนั้นคือ เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจากการทำงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยลดน้อยลง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองตามมาตรฐานมีจำนวนลดลงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การเกษตรของไทยมีประมาณ 130 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เหลือประมาณ 150,000 ไร่เท่านั้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือประมาณ 0.05 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ นับว่าเป็นสถานการณ์ที่แย่มาก และยังเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตจากการใช้สารเคมี การพึ่งพาสารเคมีในระบบการผลิต ปัญหาสารเคมีที่แพงขึ้น หลายประเทศในโลกเปลี่ยนระบบการผลิตไปเป็นแบบอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป บางประเทศมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์  หรือประเทศออสเตรีย ที่มีถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ประเทศเล็กๆบางประเทศอย่างเช่น ประเทศริคเก็นสไตล์ เป็นระบบเกษตรอินทรีย์เกินครึ่งประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร มีน้ำ ทรัพยากรพร้อม แต่พื้นที่เกษตรอินทรีย์กลับลดลงและไม่อยู่ในฐานะที่ผลิตพลังงานได้ด้วยตนเอง และผู้บริหารประเทศยังไม่มีนโยบายที่จริงจังกับเรื่องนี้

“พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้มาก แต่เดิมเราตั้งว่าจะต้องเพิ่มให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปี  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ว่า ประเทศไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปี ซึ่งในการปฏิบัติจริงทำไม่ได้”

นายวิฑูรย์กล่าวด้วยว่า นโยบายของรัฐบาลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ลดลง เช่น โครงการรับจำนำข้าว โดยตั้งราคาในระดับสูงถึง 15,000 บาทต่อไร่ แทนที่จะผลักดันนโยบายปรับปรุงคุณภาพในการผลิต เพื่อผลักดันการแข่งขันให้ต่อสู้ได้ กลับไปตั้งราคารับซื้อสูง โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรในการรับซื้อ ซึ่งนโยบายเช่นนี้ จะไปสนับสนุนการใช้สารเคมีในการผลิต และสนับสนุนบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ เช่น บริษัทขายยาปราบศัตรูพืช และบริษัทเมล็ดพันธุ์พืช นอกจากนี้นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยังเป็นการตัดราคาบริษัท หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กที่รับซื้อข้าวจากชาวนา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ในจ.สุรินทร์หาซื้อข้าวอินทรีย์เพื่อจะส่งไปขายที่ยุโรป หาซื้อไม่ได้แล้ว เพราะชาวนาใช้ที่ปลูกข้าวเพื่อเข้าโครงการรับจำนำราคาข้าว”

บทคัดย่อ :


EU ตีกลับผักผลไม้ไทยเกินครึ่งหลังพบสารเคมีตกค้าง


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ


นายวิฑูรย์กล่าวว่า นอกจากปัญหาผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากการส่งออก มีการรวบรวมสถิติของผักผลไม้ที่ประเทศไทยส่งไปขายในสหภาพยุโรป หรือ EU (EUROPE UNION EU) ซึ่ง EU มีระบบการสุ่มตรวจเรียกว่า Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) เป็นการแจ้งเตือนการนำเข้าผัก ผลไม้  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการตรวจพบสารเคมีในสินค้ามากที่สุด เมื่อเทียบปริมาณการส่งออกกับประเทศอื่น เช่น ประเทศจีน ขณะที่ไทยส่งออกน้อยกว่าจีนหลายเท่าตัว ตัวเลขจากการแจ้งการนับเตือนสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในระบบ RASFF ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือปี             2552 2553       และ 2554 ไทยถูกตีกลับพืชผักที่ส่งขาย EU ตลอดทุกปี ในปี 2553 ถูกตีกลับถึง 55 ครั้ง

“วิกฤตนี้สะท้อนว่า ขนาดสินค้าที่ส่งออกซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบ ยังมีปริมาณสารเคมีเกินที่กำหนด ดังนั้นอาหาร พืช ผัก ผลไม้ที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ ไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ”

เมื่อปี 2554 ยุโรปประกาศจะดำเนินการห้ามนำเข้าผักผลไม้จากไทยโดยเด็ดขาด ซึ่งส่วนราชการของไทยได้ขอเจรจากับ EU ขอระงับการส่งออกผัก ผลไม้เอง หลังจากนั้นมีการดำเนินมาตรการตรวจสอบผักทุกชนิด และยังคาดโทษด้วยว่าหากตรวจพบว่า มีสารเคมีตกค้างจะยกเลิกการนำเข้าทันที
ทั้งนี้การแจ้งเตือนของ EU สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ระบุว่า เมื่อกลางปี 2554 มีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึง 40 % และที่สำคัญ 33 % จาก 40 % เป็นคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งเป็นสารเคมีร้ายแรงที่อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการส่งออกเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาสำคัญต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทยในการพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของโลก ที่สามารถผลิตอาหารอย่างเพียงพอ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย

ชี้รัฐบาลหละหลวมปล่อยให้ขึ้นทะเบียนเพียบ

นอกจากนี้นายวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกำลังเกิดวิกฤตในด้านนโยบายการควบคุมสารเคมี ซึ่งดูได้จากข้อมูลที่รัฐบาลปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้า และชื่อการค้าของสารเคมีมากว่า 27,000 รายการ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีนำเข้าประมาณ 2,000 รายการเท่านั้น  ซึ่งนายวิฑูรย์ระบุว่า เป็นเพราะกลไกความหละหลวมของระบบการควบคุม ซึ่งสารเคมีที่ต้องควบคุมส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมีหนักที่กำหนดไว้ใน FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) แทบทั้งสิ้น  ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเรื่องการใช้สารเคมี รวมถึงการ

ตรวจสอบบทบาทของบริษัทที่นำเข้าทางด้านจริยธรรมด้วย

             “ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมเริ่มเข้ามาตรวจสอบเรื่องสารเคมีมากขึ้น มีการกำหนดเป็นประเด็นสำคัญในเวทีสมัชชาแห่งชาติ ทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถผลักดันให้มีการแก้ไข เรื่องคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้มีตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์เข้าไปเป็นตัวแทนในคณะกรรมการเพื่อร่วมกำหนดนโยบาย”

จี้แก้กฎหมายสกัดนำเข้าสารเคมีอันตราย

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้องได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมวิชาการเกษตร กรณีที่วัตถุอันตรายที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว ไม่ควรจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะ 4 ชนิดที่เป็นสารเคมีสำคัญ คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนถึงผลกระทบจึงขอให้ยกเลิก 4 ชนิดนี้ก่อน เนื่องจากในต่างประเทศ ไม่มีการใช้แล้ว ยกตัวอย่างคาร์โบฟูราน อเมริกาที่เป็นประเทศผู้ผลิตได้สั่งห้ามใช้ในประเทศแล้ว และหลายประเทศทยอยสั่งห้ามใช้เหมือนกัน ในขณะที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศห้ามใช้มาก่อนหน้านี้ ล่าสุดคือ จีนก็ห้ามใช้แล้ว

            “ตอนนี้กลายเป็นว่า บริษัทพยายามที่จะดิ้นเพื่อหาเหตุผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนให้ได้ โดยการร่วมมือกับคนในหน่วยงานราชการบางส่วน เพื่อหาช่องโหว่ของระเบียบและกฎหมายคือ คาร์โบฟูราน แต่เดิมนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน แต่เมื่อ 2 ประเทศที่ส่งออกประกาศห้ามใช้ ทำให้กฎหมายไทยต้องห้ามนำเข้าสารเคมีเหล่านี้จากประเทศนั้นๆด้วย แต่บริษัทที่ขายสินค้าเหล่านี้ ใช้วิธีหลีกเลี่ยงด้วยการขอขึ้นทะเบียนคุม ดังนั้นคาร์โบฟูรานจึงมาจากหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิต ที่พบคือมาจากอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียยังไม่ประกาศห้ามใช้ ณ ปัจจุบัน โดยบริษัทนำเข้าพวกนี้ จะไปตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนขึ้นที่อินโดนีเซีย โดยการหลีกเลี่ยงระเบียบ อันนี้เป็นความฉ้อฉล  คือเป็นความไร้จริยธรรมของบริษัทรวมถึงกระบวนการที่จะขึ้นทะเบียนด้วย ถ้าหากมีการยินยอม  เท่ากับมีการฉ้อฉล ไม่โปร่งใส ไม่ดำเนินไปตามกติกา และขณะนี้มีความพยายามจะขอแก้ระเบียบที่ว่า ถ้าประเทศไหนเป็นผู้ผลิตสารเคมี แต่ไม่สามารถจำหน่ายในประเทศได้ ประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ซึ่งหากจะนำเข้ามาขายในไทยจะต้องมีหนังสือรับรองจากประเทศผู้ผลิต ซึ่งกำลังมีความพยายามจะแก้กฎระเบียบใหม่ โดยไม่ต้องใช้หนังสือยืนยัน”

กรมวิชาการเกษตรเปิดทางนำเข้าเกือบพันล้าน

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ยังกล่าวถึงเหตุจูงใจที่มีการเร่งนำเข้า คือมูลค่าการนำเข้าทางการตลาด ที่คาดว่าจะสูงถึง 3,000 ล้านบาท เช่น คาร์โบฟูราน ต้นทุนกิโลกรัมละ 15 บาท นำเข้า 10 ล้านกิโลกรัม บรรจุถุงขายกิโลกรัมละ 60-80 บาท กำไรประมาณกิโลกรัมละ 4 เท่าตัว ปี 2554 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้า 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้กำไรประมาณ 800 ล้านบาท

“คิดว่าเรื่องนี้ คงจะปล่อยให้ข้าราชการประจำดำเนินการไม่ได้ เราจึงเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามากำกับเรื่องนี้ให้เป็นไปตามที่แถลงต่อรัฐสภา หรือที่ประกาศไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ที่จะเป็นครัวของโลก และต้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนการนำเข้าสารเคมี ที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว และให้มีการเปิดเผยข้อมูลของสารเคมีที่มีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเฉพาะสารเคมี 3-4 ชนิดนี้ สมมติว่า กรมวิชาการเกษตรตั้งเป้าว่าจะขึ้นทะเบียน 4,000 รายการ ผมไม่เชื่อว่าหน่วยงานราชการจะมีกำลังพอที่จะไปดู น่าจะรอเอกสารที่บริษัทส่งมาให้ ซึ่งแทบจะไม่มีการตรวจสอบจากภาคราชการ การขึ้นทะเบียนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า” นายวิฑูรย์กล่าว


บทคัดย่อ :



แฉบริษัทดิ้นนำเข้า'4เคมีเกษตรอันตราย' จ้องแก้กฎไม่ใช้หนังสือรับรองการผลิต กรมควบคุมฯชี้พิษรุนแรง-ทำทารกพิการ  อียูตีกลับอื้อผักผลไม้เปื้อนเคมี-ในรอบ3ปี
โดย วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ


แฉขบวนการจ้องฮั้วบริษัทนำเข้าสารเคมีเกษตร เปิดช่องไม่ต้องใช้หนังสือรับรองจากประเทศผู้ผลิต นำเข้า 4 สารพิษต้องห้าม ทั้งที่เกือบทั่วโลกเลิกใช้แล้ว และกรมวิชาการเกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ขณะที่กรมควบคุมโรคระบุอันตรายของพิษ รุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กแรกเกิดพิการ ด้านอียูตีกลับผักผลไม้ไทยเปื้อนเคมีในรอบ 3 ปี ถึง 55 ครั้ง นักวิจัยชี้ผลทดลองยังมีสารตกค้างถึง 10 เท่า จวกรัฐบาลหละหลวมปล่อยขึ้นทะเบียนกว่า 2 หมื่นชนิด



กรมวิชาการเกษตรไม่เปิดข้อมูลสารอันตราย

พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรประมาณ 27,000 รายการ ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นการควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลความคุมวัตถุอันตราย สามารถปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีความอันตรายสูง โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ และปฏิเสธการขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ กรมวิชาการเกษตรได้บรรจุให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตราย 11 ชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ปี 2547  แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าแต่อย่างใด
         อย่างไรก็ตามทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดนี้ หมดอายุลงในวันที่ 22 ส.ค.2554  และกรมวิชาการเกษตรได้มีคำสั่งอนุโลมให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดรวมถึงสารเคมีเฝ้าระวัง สามารถวางจำหน่ายได้จนถึงเดือนส.ค.2556 ซึ่งทำให้การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่กรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาอนุญาต ให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ดังกล่าว โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา ที่จะยืนยันความปลอดภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขัดต่อมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 มี.ค.2552 ที่ระบุว่า “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนประกาศกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณาอนุญาต และให้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียไปประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

งานวิจัยระบุชัดอันตรายร้ายแรง
ทั้ง 4 ชนิด

ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า จากรายงานการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 15 พ.ย.2554 พบว่า บริษัทสารเคมีเกษตร 13 แห่งกำลังขอขึ้นทะเบียน คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส รวมทั้งสิ้น 23 ทะเบียน โดยสารเคมีเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้าย ยกเว้นอีพีเอ็น ที่ยังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนในปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการขอขึ้นทะเบียนเมโทมิลมากที่สุด ในกลุ่มสารเคมีเฝ้าระวัง จำนวน 12 ทะเบียน โดยบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นทะเบียนเมโทมิล ถึง 4 รายการ
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อกลางปี 2554 โดย ดร.สุภาพร ใจการุณ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ยืนยันผลจากงานวิจัยอื่นๆ ทั่วโลกว่า คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สมควรยกเลิกห้ามใช้โดยเร่งด่วน เพราะนอกเหนือจากที่มีระดับความเป็นพิษสูงมากแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและตกค้างในพืชปลูกเกินระดับที่จะสามารถยอมรับได้

สารเคมีในเลือดเกษตรกรเกิน 50%-พบทารกพิการอื้อ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงปัญหาการใช้สารเคมีในประเทศไทยว่า สารเคมีเป็นปัญหามานาน นโยบายเรื่องสารเคมีมักไม่ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรพัฒนาเอกชนเหมือนเรื่องอื่นๆ ดังนั้นปัญหาจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดกับเกษตรกรที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก ตัวเลขการตรวจเลือดของเกษตรกรที่อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย อันเนื่องมาจากการสะสมของสารเคมีเมื่อปี 2554 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ประมาณ 53 % จากกลุ่มตัวอย่างสุ่มตรวจประมาณแสนตัวอย่าง
ซึ่งสถิติตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบกับสุขภาพที่เกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กที่เกิดจากครอบครัวเกษตรกรที่ใช้สารเคมีจำนวนมากจะมีความพิการซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้สารเคมี เช่น  ปากแหว่ง  เพดานโหว่ นิ้วกุด  เป็นต้น








“ชาวบ้านที่เสียชีวิตเพราะการใช้สารเคมี มีจำนวนมาก ยกตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกพริกและใช้สารเคมีมาก 
เช่นในจ.ขอนแก่น เกิดขึ้นหลายราย ข้อมูลสถิติยืนยันชัดเจน ข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนที่ จ.เชียงใหม่ 
ก็มี  และมีการตรวจละเอียดมาก เคยลงไปตรวจปัสสาวะของเด็กในครอบครัวเกษตรกร ตรวจสุขภาพเด็ก
แรกคลอด พบการสะสมของสารเคมีในระดับที่เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น”

          ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการใช้สารเคมีในประเทศไทย ซึ่งผู้อำนวยการไบโอไทยได้อธิบายรายละเอียดการใช้สารเคมีว่า ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมากที่สุด คือพื้นที่ราบภาคกลาง ที่เป็น
พื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีสูง และมีจำนวนประชากรเจ็บป่วยจากสารเคมีมากด้วย ซึ่งสะท้อนว่า พื้นที่ที่มีการ
ใช้สารเคมีสูง จะสะท้อนภาวะการเจ็บป่วยของประชากร จากกราฟแสดงตัวเลขผู้เจ็บป่วยจากการได้รับสาร
เคมี จากระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมามีตัวเลขเกินครึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง ใน
ประชาการโดยสถิติคนที่ตายด้วยโรคมะเร็งมีมากกว่าโรคอื่นนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหาร

คัดลอกจาก :



เลิกใช้เคมีการเกษตร เลิกจน หยุดโลกร้อน หยุดทำลาย


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(United Nations Framework Convention on Climate Chang, UNFCCC)” นำไปสู่การจัดทำ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งรู้จักกันอีกอย่างว่าเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลก
          โดยมีเป้าหมายผูกพัน คือ การควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 6 ชนิด ได้แก่
คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) โดยเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนา แล้วลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 5.2 เปอร์เซ็นต์ ภายใน พ.ศ. 2555         

          แม้ว่าประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Non – Annex I ซึ่งไม่มีพันธะกรณีในการ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตเรื่องของกลไกการพัฒนาที่สะอาด (มาตรา 12) โดยสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของอนุสัญญาและพิธีสารได้ตามความสมัครใจก๊าซเรือนกระจกมีที่มาจากทั้งธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ในยุคก่อนอุตสาหกรรมการสะสมของก๊าซต่างๆในบรรยากาศค่อนข้างคงตัว แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มีหลักฐานบ่งชัดว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์มากกว่าการเกิดตามธรรมชาติ ตัวอย่างกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การเผาผลาญเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์และการทำลายป่า การกสิกรรมและปศุสัตว์ซึ่งก่อให้เกิดของเสียเป็นสิ่งปฏิกูลต่างๆตามมา การใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น
ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัวใหม่ เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยและเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไม่สามารถปรับตัวได้จะต้องสูญพันธุ์ในที่สุด การสูญหายไปของสิ่งมีชีวิตแม้เพียงชนิดเดียวย่อมกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงอยู่ของระบบนิเวศนั้นๆ

"ยูเอ็น"เตือนโลกร้อนฉบับที่ 2 ทำเสียหายมหึมา-เอเชียหนัก"


ยูเอ็น"สรุปภาวะโลกร้อนฉบับที่ 2 สร้างค่าเสียหาย 23,700 ล้านดอลลาร์ ถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ชี้ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มระดับน้ำขึ้น 1 เมตร เสียหายในเชิงเศรษฐกิจมากถึง 944,000 ล้านดอลลาร์ เกือบครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย วอนทุกชาติร่วมมือ เตรียมแถลงเป็นทางการ"


ไนตรัสออกไซต์ (N20)
ไนตรัสออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 296 เท่า และคงอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลา 114 ปี ก๊าซนี้ถูกปล่อยออกมาโดยธรรมชาติจากมหาสมุทรและดิน แต่ไนตรัสออกไซด์ที่มนุษย์ก่อให้เกิดนั้นกำลังเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซชนิดนี้ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซนี้ ได้แก่ เกษตรกรรม (ส่วนมากโดยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน) และอุตสาหกรรม และยังเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลและวัสดุอินทรีย์อื่นๆ


           มีความพยายามเสนอมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นการดำเนินการที่ชัดเจนพอที่เราจะบอกว่าควรสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่จากทิศทางการพัฒนาการเกษตรที่เป็นอยู่ คือเน้นสนับสนุนการเกษตรขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์ ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีเยอะ ๆ ใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) จะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และอาจทำให้ปัญหาแย่ลงได้  ส่วนการศึกษาในประเทศไทย นักวิชาการคนเดียวกัน กล่าวว่า ภาพรวมพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากปริมาณก๊าซที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตของพืชลดลงเรื่อยๆ แต่ขนาดของผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่กรณี เช่น พื้นที่ปลูกข้าวใน จ.สุรินทร์ มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด พื้นที่ปลูกข้าวโพดใน จ.นครราชสีมา ก็มีความอ่อนไหวมากกว่าพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เกษตรกรที่ปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี


           นายสหัสชัย คงทน นักวิชาการสำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดินกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกต่อภาคเกษตรกรรมว่า สาขาการผลิตที่ผูกพันกับสภาพธรรมชาติมากยิ่งเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ภาคเกษตรจึงมีความอ่อนไหวต่อ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มากไทยเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่พึ่งพาสาขาเกษตร โดยเฉพาะด้านกสิกรรม มีพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่เป็นสินค้าส่งออกและเป็นสินค้าเริ่มต้นเพื่อการผลิตในสาขาอื่นในประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย สภาพดินฟ้าอากาศจึงมีผลต่อการผลิตของพืชเหล่านี้เป็นอย่างมาก การศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบต่อภาคเกษตรจึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการปรับตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น