วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แฉบริษัทดิ้นนำเข้า'4เคมีเกษตรอันตราย' จ้องแก้กฎไม่ใช้หนังสือรับรองการผลิต กรมควบคุมฯชี้พิษรุนแรง-ทำทารกพิการ  อียูตีกลับอื้อผักผลไม้เปื้อนเคมี-ในรอบ3ปี
โดย วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ


แฉขบวนการจ้องฮั้วบริษัทนำเข้าสารเคมีเกษตร เปิดช่องไม่ต้องใช้หนังสือรับรองจากประเทศผู้ผลิต นำเข้า 4 สารพิษต้องห้าม ทั้งที่เกือบทั่วโลกเลิกใช้แล้ว และกรมวิชาการเกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ขณะที่กรมควบคุมโรคระบุอันตรายของพิษ รุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กแรกเกิดพิการ ด้านอียูตีกลับผักผลไม้ไทยเปื้อนเคมีในรอบ 3 ปี ถึง 55 ครั้ง นักวิจัยชี้ผลทดลองยังมีสารตกค้างถึง 10 เท่า จวกรัฐบาลหละหลวมปล่อยขึ้นทะเบียนกว่า 2 หมื่นชนิด



กรมวิชาการเกษตรไม่เปิดข้อมูลสารอันตราย

พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรประมาณ 27,000 รายการ ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นการควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลความคุมวัตถุอันตราย สามารถปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีความอันตรายสูง โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้ และปฏิเสธการขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ กรมวิชาการเกษตรได้บรรจุให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตราย 11 ชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ปี 2547  แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าแต่อย่างใด
         อย่างไรก็ตามทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดนี้ หมดอายุลงในวันที่ 22 ส.ค.2554  และกรมวิชาการเกษตรได้มีคำสั่งอนุโลมให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดรวมถึงสารเคมีเฝ้าระวัง สามารถวางจำหน่ายได้จนถึงเดือนส.ค.2556 ซึ่งทำให้การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ขณะที่กรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาอนุญาต ให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ดังกล่าว โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา ที่จะยืนยันความปลอดภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขัดต่อมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 มี.ค.2552 ที่ระบุว่า “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนประกาศกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณาอนุญาต และให้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียไปประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

งานวิจัยระบุชัดอันตรายร้ายแรง
ทั้ง 4 ชนิด

ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า จากรายงานการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 15 พ.ย.2554 พบว่า บริษัทสารเคมีเกษตร 13 แห่งกำลังขอขึ้นทะเบียน คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส รวมทั้งสิ้น 23 ทะเบียน โดยสารเคมีเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้าย ยกเว้นอีพีเอ็น ที่ยังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนในปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการขอขึ้นทะเบียนเมโทมิลมากที่สุด ในกลุ่มสารเคมีเฝ้าระวัง จำนวน 12 ทะเบียน โดยบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นทะเบียนเมโทมิล ถึง 4 รายการ
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ไทย เมื่อกลางปี 2554 โดย ดร.สุภาพร ใจการุณ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ยืนยันผลจากงานวิจัยอื่นๆ ทั่วโลกว่า คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สมควรยกเลิกห้ามใช้โดยเร่งด่วน เพราะนอกเหนือจากที่มีระดับความเป็นพิษสูงมากแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและตกค้างในพืชปลูกเกินระดับที่จะสามารถยอมรับได้

สารเคมีในเลือดเกษตรกรเกิน 50%-พบทารกพิการอื้อ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงปัญหาการใช้สารเคมีในประเทศไทยว่า สารเคมีเป็นปัญหามานาน นโยบายเรื่องสารเคมีมักไม่ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรพัฒนาเอกชนเหมือนเรื่องอื่นๆ ดังนั้นปัญหาจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดกับเกษตรกรที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก ตัวเลขการตรวจเลือดของเกษตรกรที่อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย อันเนื่องมาจากการสะสมของสารเคมีเมื่อปี 2554 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ประมาณ 53 % จากกลุ่มตัวอย่างสุ่มตรวจประมาณแสนตัวอย่าง
ซึ่งสถิติตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบกับสุขภาพที่เกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กที่เกิดจากครอบครัวเกษตรกรที่ใช้สารเคมีจำนวนมากจะมีความพิการซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้สารเคมี เช่น  ปากแหว่ง  เพดานโหว่ นิ้วกุด  เป็นต้น








“ชาวบ้านที่เสียชีวิตเพราะการใช้สารเคมี มีจำนวนมาก ยกตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกพริกและใช้สารเคมีมาก 
เช่นในจ.ขอนแก่น เกิดขึ้นหลายราย ข้อมูลสถิติยืนยันชัดเจน ข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนที่ จ.เชียงใหม่ 
ก็มี  และมีการตรวจละเอียดมาก เคยลงไปตรวจปัสสาวะของเด็กในครอบครัวเกษตรกร ตรวจสุขภาพเด็ก
แรกคลอด พบการสะสมของสารเคมีในระดับที่เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น”

          ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการใช้สารเคมีในประเทศไทย ซึ่งผู้อำนวยการไบโอไทยได้อธิบายรายละเอียดการใช้สารเคมีว่า ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมากที่สุด คือพื้นที่ราบภาคกลาง ที่เป็น
พื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีสูง และมีจำนวนประชากรเจ็บป่วยจากสารเคมีมากด้วย ซึ่งสะท้อนว่า พื้นที่ที่มีการ
ใช้สารเคมีสูง จะสะท้อนภาวะการเจ็บป่วยของประชากร จากกราฟแสดงตัวเลขผู้เจ็บป่วยจากการได้รับสาร
เคมี จากระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมามีตัวเลขเกินครึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง ใน
ประชาการโดยสถิติคนที่ตายด้วยโรคมะเร็งมีมากกว่าโรคอื่นนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหาร

คัดลอกจาก :



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น