วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

EU ตีกลับผักผลไม้ไทยเกินครึ่งหลังพบสารเคมีตกค้าง


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ


นายวิฑูรย์กล่าวว่า นอกจากปัญหาผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากการส่งออก มีการรวบรวมสถิติของผักผลไม้ที่ประเทศไทยส่งไปขายในสหภาพยุโรป หรือ EU (EUROPE UNION EU) ซึ่ง EU มีระบบการสุ่มตรวจเรียกว่า Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) เป็นการแจ้งเตือนการนำเข้าผัก ผลไม้  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการตรวจพบสารเคมีในสินค้ามากที่สุด เมื่อเทียบปริมาณการส่งออกกับประเทศอื่น เช่น ประเทศจีน ขณะที่ไทยส่งออกน้อยกว่าจีนหลายเท่าตัว ตัวเลขจากการแจ้งการนับเตือนสารเคมีกำจัดแมลงตกค้างในระบบ RASFF ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือปี             2552 2553       และ 2554 ไทยถูกตีกลับพืชผักที่ส่งขาย EU ตลอดทุกปี ในปี 2553 ถูกตีกลับถึง 55 ครั้ง

“วิกฤตนี้สะท้อนว่า ขนาดสินค้าที่ส่งออกซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบ ยังมีปริมาณสารเคมีเกินที่กำหนด ดังนั้นอาหาร พืช ผัก ผลไม้ที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ ไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ”

เมื่อปี 2554 ยุโรปประกาศจะดำเนินการห้ามนำเข้าผักผลไม้จากไทยโดยเด็ดขาด ซึ่งส่วนราชการของไทยได้ขอเจรจากับ EU ขอระงับการส่งออกผัก ผลไม้เอง หลังจากนั้นมีการดำเนินมาตรการตรวจสอบผักทุกชนิด และยังคาดโทษด้วยว่าหากตรวจพบว่า มีสารเคมีตกค้างจะยกเลิกการนำเข้าทันที
ทั้งนี้การแจ้งเตือนของ EU สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ระบุว่า เมื่อกลางปี 2554 มีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึง 40 % และที่สำคัญ 33 % จาก 40 % เป็นคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งเป็นสารเคมีร้ายแรงที่อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร ปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการส่งออกเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาสำคัญต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทยในการพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของโลก ที่สามารถผลิตอาหารอย่างเพียงพอ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย

ชี้รัฐบาลหละหลวมปล่อยให้ขึ้นทะเบียนเพียบ

นอกจากนี้นายวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกำลังเกิดวิกฤตในด้านนโยบายการควบคุมสารเคมี ซึ่งดูได้จากข้อมูลที่รัฐบาลปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้า และชื่อการค้าของสารเคมีมากว่า 27,000 รายการ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีนำเข้าประมาณ 2,000 รายการเท่านั้น  ซึ่งนายวิฑูรย์ระบุว่า เป็นเพราะกลไกความหละหลวมของระบบการควบคุม ซึ่งสารเคมีที่ต้องควบคุมส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมีหนักที่กำหนดไว้ใน FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) แทบทั้งสิ้น  ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเรื่องการใช้สารเคมี รวมถึงการ

ตรวจสอบบทบาทของบริษัทที่นำเข้าทางด้านจริยธรรมด้วย

             “ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมเริ่มเข้ามาตรวจสอบเรื่องสารเคมีมากขึ้น มีการกำหนดเป็นประเด็นสำคัญในเวทีสมัชชาแห่งชาติ ทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถผลักดันให้มีการแก้ไข เรื่องคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้มีตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์เข้าไปเป็นตัวแทนในคณะกรรมการเพื่อร่วมกำหนดนโยบาย”

จี้แก้กฎหมายสกัดนำเข้าสารเคมีอันตราย

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้องได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมวิชาการเกษตร กรณีที่วัตถุอันตรายที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว ไม่ควรจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะ 4 ชนิดที่เป็นสารเคมีสำคัญ คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนถึงผลกระทบจึงขอให้ยกเลิก 4 ชนิดนี้ก่อน เนื่องจากในต่างประเทศ ไม่มีการใช้แล้ว ยกตัวอย่างคาร์โบฟูราน อเมริกาที่เป็นประเทศผู้ผลิตได้สั่งห้ามใช้ในประเทศแล้ว และหลายประเทศทยอยสั่งห้ามใช้เหมือนกัน ในขณะที่ประเทศในยุโรปหลายประเทศห้ามใช้มาก่อนหน้านี้ ล่าสุดคือ จีนก็ห้ามใช้แล้ว

            “ตอนนี้กลายเป็นว่า บริษัทพยายามที่จะดิ้นเพื่อหาเหตุผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนให้ได้ โดยการร่วมมือกับคนในหน่วยงานราชการบางส่วน เพื่อหาช่องโหว่ของระเบียบและกฎหมายคือ คาร์โบฟูราน แต่เดิมนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน แต่เมื่อ 2 ประเทศที่ส่งออกประกาศห้ามใช้ ทำให้กฎหมายไทยต้องห้ามนำเข้าสารเคมีเหล่านี้จากประเทศนั้นๆด้วย แต่บริษัทที่ขายสินค้าเหล่านี้ ใช้วิธีหลีกเลี่ยงด้วยการขอขึ้นทะเบียนคุม ดังนั้นคาร์โบฟูรานจึงมาจากหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิต ที่พบคือมาจากอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียยังไม่ประกาศห้ามใช้ ณ ปัจจุบัน โดยบริษัทนำเข้าพวกนี้ จะไปตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนขึ้นที่อินโดนีเซีย โดยการหลีกเลี่ยงระเบียบ อันนี้เป็นความฉ้อฉล  คือเป็นความไร้จริยธรรมของบริษัทรวมถึงกระบวนการที่จะขึ้นทะเบียนด้วย ถ้าหากมีการยินยอม  เท่ากับมีการฉ้อฉล ไม่โปร่งใส ไม่ดำเนินไปตามกติกา และขณะนี้มีความพยายามจะขอแก้ระเบียบที่ว่า ถ้าประเทศไหนเป็นผู้ผลิตสารเคมี แต่ไม่สามารถจำหน่ายในประเทศได้ ประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ซึ่งหากจะนำเข้ามาขายในไทยจะต้องมีหนังสือรับรองจากประเทศผู้ผลิต ซึ่งกำลังมีความพยายามจะแก้กฎระเบียบใหม่ โดยไม่ต้องใช้หนังสือยืนยัน”

กรมวิชาการเกษตรเปิดทางนำเข้าเกือบพันล้าน

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ยังกล่าวถึงเหตุจูงใจที่มีการเร่งนำเข้า คือมูลค่าการนำเข้าทางการตลาด ที่คาดว่าจะสูงถึง 3,000 ล้านบาท เช่น คาร์โบฟูราน ต้นทุนกิโลกรัมละ 15 บาท นำเข้า 10 ล้านกิโลกรัม บรรจุถุงขายกิโลกรัมละ 60-80 บาท กำไรประมาณกิโลกรัมละ 4 เท่าตัว ปี 2554 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้า 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้กำไรประมาณ 800 ล้านบาท

“คิดว่าเรื่องนี้ คงจะปล่อยให้ข้าราชการประจำดำเนินการไม่ได้ เราจึงเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามากำกับเรื่องนี้ให้เป็นไปตามที่แถลงต่อรัฐสภา หรือที่ประกาศไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ที่จะเป็นครัวของโลก และต้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนการนำเข้าสารเคมี ที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว และให้มีการเปิดเผยข้อมูลของสารเคมีที่มีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ว่าเหตุผลเบื้องหลังของการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยเฉพาะสารเคมี 3-4 ชนิดนี้ สมมติว่า กรมวิชาการเกษตรตั้งเป้าว่าจะขึ้นทะเบียน 4,000 รายการ ผมไม่เชื่อว่าหน่วยงานราชการจะมีกำลังพอที่จะไปดู น่าจะรอเอกสารที่บริษัทส่งมาให้ ซึ่งแทบจะไม่มีการตรวจสอบจากภาคราชการ การขึ้นทะเบียนเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า” นายวิฑูรย์กล่าว


บทคัดย่อ :



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น