วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

เตือนภัยสารพิษเคมีการเกษตร ในประเทศไทย ขั้นสูงสุด

แพทย์อุบลกังวลสารพิษเกษตรฉุดสุขภาพคนไทยทรุด
Posted: 02 Sep 2013 01:38 AM PDT

นพ.สสจ.อุบลฯเผยผลตรวจเลือดเกษตรกรพบ 70% เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารพิษฆ่าแมลง สหภาพยุโรปจับมือม.อุบลฯเร่งหนุนเกษตรอินทรีย์


นายแพทย์ใหญ่อุบล กังวลสารพิษทางเกษตรฉุดสุขภาพคนไทยทรุด รองผู้ว่าฯ รับนโยบายเสนอผุดศูนย์เกษตรอินทรีย์ ขณะที่สหภาพยุโรปจับมือ ม.อุบลฯ โชว์โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ผุดงานวิจัยรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ชี้ภายในปี 2560 เกษตรกรผ่านใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 100 ครอบครัว 

เมื่อวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2556 ที่ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร อาคารวิจัยเครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สหภาพยุโรป ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมแถลงข่าว ได้แก่ นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คุณอรุณศิริ โพธิ์ทอง ผู้ประสานงานโครงการ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขอุบลราชธานี ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างงสุขอุบลราชธานี ดำเนินรายการ โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมรับฟังและสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวอย่างคับคั่ง

นายสุทธินันท์ บุญมี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า ในจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เพียง 0.389% สาเหตุเพราะ ไม่มีที่ขาย,ไม่มีเครือข่าย,ราคาไม่ต่างกับใช้เคมี,ขาดการประชาสัมพันธ์,มาตรฐานอินทรีย์ยังไม่ชัดเจน,ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น และขาดข้อมูล ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันผลักดันศูนย์อินทรีย์อุบลราชธานี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ประธานคณะทำงานโครงการกล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินงานโดยคณะทำงานโครงการฯ ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี

ปัจจุบัน เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเกษตรกรยังต้องกดดันตัวเองให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปหักลบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร จากสภาพปัญหาดังกล่าว โครงการฯ นี้ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ได้แก่การผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาจากเคมีเป็นอินทรีย์จำนวน 200 ครอบครัว และภายในปี 2560 ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จำนวน 100 ครอบครัว มีการวิจัยพัฒนารูปแบบการทำนาอินทรีย์เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยการผสมผสานความรู้จากภูมิปัญญาในท้องถิ่นและข้อมูลจากงานวิจัย ดำเนินการให้มีสหกรณ์เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านการขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรที่สนใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับบุคคล องค์กร และหน่วยงานหลากหลายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

โครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี งบประมาณโครงการ 20 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปร้อยเป็นจำนวนเงิน 18 ล้านบาทมีพื้นที่การทำงานในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล, กลุ่มเกษตรกรบ้านทองหลาง ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม, กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง, กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองไฮ ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร, กลุ่มเกษตรกรบ้านคำสร้างไชย-บ้านบัวเทิง อำเภอสว่างวีระวงศ์, กลุ่มเกษตรกรตำบลม่วงใหญ่-ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร, กลุ่มเกษตรกรบ้านดงบัง-บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง,กลุ่มเกษตรกรบ้านจานตะโนน ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง และกลุ่มเกษตรกรบ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ

น.พ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเผยว่า สถิติประชาชนเจ็บป่วยจากการเป็นมะเร็ง,โรคตับ,โรคไตมากขึ้นซึ่งสาเหตุก็เกิดจากพฤติกรรมการกินของเรา ตับ,ไตต้องทำหน้าที่เก็บและทำลายสารพิษ เมื่อมีสารพิษมากก็ทำงานหนักเจ็บป่วยกันมากขึ้น จากผลการตรวจเลือดเกษตรกรล่าสุดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ พบว่าเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง 100 คน พบ 70 คน เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารพิษฆ่าแมลง เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก อ.กุดข้าวปุ้น เสี่ยงสูงสุดถึง 79% 

แม้แต่เห็ดที่เรากินกันเป็นปกติไม่มีพิษ ปัจจุบันที่ขึ้นใกล้สวนยางพารา ก็ซึมซับพิษจากยาฆ่าหญ้ามาด้วย อันตรายมาก ข้าวก็เช่นกัน ข้าวเป็นพืชที่ดูดซึมสารพิษได้ดีมาก ทราบมาว่าบางพื้นที่ชาวนาฉีดยาฆ่าหญ้าสูงสุดถึง 5 ครั้ง พิษนั้นจะถูกดูดซึมไปที่ไหน การที่สหภาพยุโรปและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมภาคีเครือข่ายจับมือกันหนุนเกษตรกรให้ปลูกแบบอินทรีย์นั้นน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดอุบลฯยินดีซื้อผลผลิตจากท่าน

ในงานครั้งนี้ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ การแสดงละครสะท้อนวิถีการทำเกษตรที่เต็มไปด้วยการใช้สารเคมีในยุคปัจจุบัน ผ่านบทละครของกลุ่มสื่อใสวัยทีนในเรื่อง “เด็กชายอินทรีย์” อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง : http://vvoicetv.com/news-id4939.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น